วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2556

เสน่ห์สาวภูไท ^^



ได้ยินเพลงนี้ทีไร เขินทุกทีเลย...
แม้เขาจะไม่ได้หมายถึงเราก็เหอะนะ น่ารักอ่ะ น่ารักๆ ^^

วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556

ไข่มดส้ม


ไข่มดส้ม 

    ไม่ต้องงกันหรอกค่ะ ภาษาภูไท เขาเรียก ไข่มดส้ม ซึ่งมันก็คือ ไข่มดแดง  นี่แหละค่ะ เพราะชาวภูไทเรา เรียกมดที่อยู่ตามรู ตามรัง ชอบกัดคน ตอมของหวาน และมีสีแดง อ่อที่สำคัญกินไม่ได้นะคะ ว่า มดแดง ส่วนนี่คงเป็นเพราะตัวมันสีส้มมั้งคะ และรสชาติเปรี้ยวๆ (ส้ม) กินได้ อร่อยด้วย เลยเรียก มดส้ม
    ไข่มดส้ม เราเคยกินนะ อร่อยมากด้วย ที่บ้านก็จะชอบ แกงใส่ผักหวานบ้าง หลนใส่ไข่บ้าง อร่อยมากเลยล่ะค่ะ คุณผู้โช้มมม 555 นึกว่า อ. ยิ่งศักดิ์มาเอง ที่บ้านคุณตาจะชอบเลี้ยงไว้ อาจจะฟังดูฮา แต่เป็นเรื่องจริง เลี้ยงไว้ให้มันทำรังอยู่บนต้นมะยม ต้นยอ หรือแม้แต่ต้นมะม่วง เอาไว้ใส่พวกต้มปลา ต้มไก่ให้มีรสชาติดีขึ้น แทนการใส่มะนาว ซึ่งอร่อยกว่าเยอะเลยล่ะค่ะ ที่สำคัญ เวลา วิงเวียนศีรษะ หรือ หน้ามืด มดส้มก็ถือเป็น ยา ขนาดดีเลยทีเดียวค่ะ เอามาขยี้ๆ นิดนึง แล้วดม รับรองหายในพริบตาค่ะ ภูมิปัญญาล้วนๆ เลยนะ อิอิ

กะปอม


กะปอม = กิ้งก่า = tree lizard

     กะปอม  ถือเป็นอาหารอันโอชะของพี่น้องภูไทหลายๆ คน ยังจำได้ดีว่า ถ้าที่บ้านจะทำกับข้าวที่ทำจาก กะปอม คุณยายจะชอบใช้ให้ไปหามะม่วงเปรี้ยวๆ มาเป็นเครื่องปรุงหลัก และต้องหากับแกล้ม เช่น ใบมะระ ใบมะตูม ท่านบอกว่าอร่อยมาก แต่เราไม่เคยชิมหรอกว่ารสชาติเป็นไง แค่เห็นก็ อี๋ !!! แล้วแหละ
    น้องชายเลยตัวดี ช่วงปิดเทอมเดือนเมษาเนี่ย ชอบไปหาจับ กะปอม อุปกรณ์ก็จะมีทั้งหนังสติ๊ก และไม้ยาวๆ ที่ทำเป็นบ่วงหรือเงื่อนตรงปลายไว้คล้องคอกะปอม เรียกง่ายๆ ว่า ไม้คล้อง ได้เยอะหน่อยก็เอาไปขาย ถ้าได้น้อยก็เอามาให้คนที่บ้านกิน หรือไม่ก็แบ่งญาติๆ กินกัน   คันทรี้ คันทรี่ นะคะ ขอบอก

ลูกชาวนา

ไม่ได้ "รวย" จนล้นฟ้า
เป็นเพียงลูก "ชาวนา" ก็หาความสุขได้


"นอนอะไรนักหนา ตื่นได้แล้ว แม่โทรตามหลายรอบแล้ว" เสียงคุณยายดังมาจากข้างล่าง...
"มีไรจ๊ะ? ขอนอนต่ออีกสักหน่อยไม่ได้หรอ ง่วงอ่ะ -_-"  
"ไปซื้อน้ำแข็ง แล้วเอาไปให้คนงานที่เกี่ยวข้าวเดี๋ยวนี้ ปิดเทอมแทนที่จะไปช่วยเกี่ยวข้าว ไม่มีเลย นอนกินบ้านกินเมืองอยู่ได้ เป็นลูกชาวนาแท้ๆ ทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง"
รีบแก้ตัวทันที  "ทำเป็นสิ ใครบอกทำไม่เป็นล่ะ ทฤษฎีงี้ยิ่งแน่น รู้หมดแหละ แต่ช่วงนี้ วันนี้ขี้เกียจ ขอเถอะนะจ๊ะ อิอิ" ....
"ถ้าพ่อแม่ตายไป ใครล่ะจะทำนาให้กินข้าว ขี้เกียจแบบนี้"
"แหม่ ! หนูทำเป็นจริงๆ หรือไม่หนูก็จ้างไงจ๊ะ หนูไม่มีวันขายที่นา อันเป็นที่รัก และเลี้ยงหนูมาจนโตได้ขนาดนี้หรอกจ่ะ ^^ หนูสัญญา"

แม้เราจะเป็นลูกชาวนา แต่.... เราก็มีความสุข ภูมิใจในความเป็นชาวนาของพ่อแม่ ของบรรพบุรุษเรา ชาวนาได้ชื่อว่า เป็น กระดูกสันหลังของชาติ   เป็น "ฮีโร่ของคนไทย"  แน่นอนว่าอาหารหลักของคนไทยคือ "ข้าว" และพวกเขานี่แหละ คือ ผู้ที่ปลูกข้าวให้คนไทยกิน ทั้งยังส่งออกนอกประเทศ เป็นสินค้าเศรษฐกิจ 



ลูกชาวนา


จากทุ่งนาฟ้ากว้าง สางจนกลายเป็นสาย
สายลมอ่อนละไม พลิ้วพรายรักรัว
ลมริ้วทิวล้อ ระริกผืนพรมมัว
พรมพลิ้วพันพัว พร่างพรายพรูพร่าง

ท้องนาทุ่งทอง ฝูงนกบนฟ้า
บินปร๋อพราวตา นกกาบินคว้าง
หากินพเนจร ปีกร่อนเหินเมฆา
ร่อนลมชมฟากฟ้า ถลาร่อนหาเหยื่อกิน



เด็กเอ๋ยเด็กน้อย ยังด้อยต้องฝึกอ่าน
ขี่ทุยเป็นเพื่อนทาง กางหนังสือใจถวิล
อ่านไปตะโกนไป ก้องฟ้าก้องแผ่นดิน
ลูกชาวนาไม่เคยสิ้น ใฝ่รู้และสร้างงาน


ลูกไทยชาวนา ไม่เคยล้ายิ้มละไม
ยิ้มสยามอยู่นี่ไง ไม่แล้งไร้ยิ้มงาม
รอยยิ้มแต้มแต่ง หน้าแฉล่มงดงาม
พิ้มพรายพริ้มสร้าง พร่างพลิ้วด้วยยิ้มเรา ... ลูกชาวนา


      เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคน โดยเฉพาะทุกท่านที่เป็นชาวนา รู้ดีว่าการทำนามันลำบาก และต้องอดทนมากแค่ไหน บางปีฝนก็แล้ง บางปีน้ำก็ท่วม เผลอๆ บางปีราคาข้าวก็ตกต่ำ ท่านจึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ลูกหลานเป็นชาวนา ส่งลูกให้เรียนสูงๆ เราก็เป็นหนึ่งในนั้น แม่เราพูดเสมอว่า ทำนา มันลำบาก เจ็บไข้ได้ป่วยยิ่งลำบากเข้าไปใหญ่ สวัสดิการเราไม่มี เบิกเงินก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ตั้งใจเรียน ให้สูงๆ ให้คุ้มกับที่ลงทุน อย่างน้อยได้เป็นครูได้เป็นข้าราชการก็ยังดี จะได้ไม่ต้องลำบากแบบพ่อกับแม่ 
      ลูกคนนี้สัญญานะจ๊ะ ว่าจะตั้งใจเรียน และจะพยายามสอบบรรจุให้เป็นครูของคุณพ่อคุณแม่ให้ได้จ่ะ ^^








พอเพียง


มี่ต้องได้เงินหลายกะสุขอยู่
อันรถหรูมูเฮามี่ต้องก๋าน
ใช้ชีวิตตามวิถีคนโบราณ
เห้อลุหลานสืบใว้อย่าได้ลืม

อันเมืองกรุงทุ่งป่าปูนช่างวุ่นวาย
และร่างกายบั่นทอนด้วยสารพิษ
กลับมาเถาะกลับมาใช้ชีวิต
สุขภาพจิตดีแท้ทุ่งบ้านเฮา

บ้านเฮานี้อากาศดีไร้มลพิษ
ทุกชีวิตสุขสดใสใจชุ่มเย็น
ทั้งปู่ย่าตาทวดเอ็ดเห้อเห็น
ในความเป๋นเผ่าพันธุ์ชาติชาวนา

มี่ต้องได้เงินหลายรวยล้นฟ้า
ภูมิปัญญากะพาเฮาสุขได้
มี่ต้องได้รถหรูใว้สู่ใช้
กะสุขใจได้เพราะความพอเพียง



เงินทองหาซิเลอกะได้
ความสุขใจซิเลอล่ะฮาวบ้าน
บรรพบุรุษสร้างใว้เห้อลุหลาน
จงสืบสานคงใว้อย่าได้ลืม

อยู่ที่ไหนก็ไม่สุขใจเท่าบ้านเราหรอกค่ะ เมืองกรุงมีแต่มลพิษ มลภาวะ ผู้คนก็มากมาย ปัญหาหลากหลาย กลับมาอยู่บ้านเราดีกว่า กลับมาทำไร่ ทำนา รักษามรดกที่บรรพบุรุษของเราสร้างไว้ให้ และกลับมาใช้ชีวิตแบบพอเพียง




Asean


ค่าย Asean 
ที่โรงเรียนสามัคคีวิทยา วันที่ 13 กันยายน 2556



รอบนี้เราได้รับมอบหมาย "สิงคโปร์"

     น้องๆ แต่ละกลุ่มน่ารักมาก ตั้งใจเรียน เชื่อฟัง และปฏิบัติตามทุกอย่าง ไม่ค่อยดื้อ ไม่ค่อยซน ที่สำคัญมีน้ำใจมาก แต่จะวุ่นวายหน่อย เพราะแต่ละคนพูดเก่งมากก 
     เป็นวันที่เหนื่อยมากๆ อีกวันนึง เพราะเราไม่ค่อยสบายด้วย เสียงไม่ค่อยมีและปวดหัวมาก แต่สุดท้ายก็ผ่านพ้นไปด้วยดี ^_^ ด้วยแรงผลักที่ว่า "ต่อไปเราจะเจออะไร หนักกว่านี้"






นิทาน


ค่ายสอนภาษาอังกฤษ
โรงเรียนหลักเมือง ชั้น ป. 5/5  วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 

"คุณครูครับ วันนี้ครูจะมาสอนอะไรครับ?"

ประโยคแรกที่ได้ยิน... น้ำตาแทบไหล t t " มีคนเรียก คุณครู รู้สึกทั้งภูมิใจ ทั้งดีใจมาก ไม่เคยมีเด็กนักเรียนที่ไหน เรียกแบบนี้มาก่อน 
        วันนั้นไปสอนภาษาอังกฤษให้เด็กๆ ป. 5/5 โรงเรียนหลักเมือง ดื้อมาก ซนมาก ไปแค่ครึ่งวัน ก็เหนื่อยสุดๆ แล้ว แต่สุดท้ายยังดีที่พวกเขายอมฟังเรา เล่นเกม และสนุกกับเรา ทั้งเล่นเกม ทั้งเล่านิทาน ทั้งร้องเพลงภาษาอังกฤษ  เหนื่อยมากกก แต่ก็รู้สึกเหมือนได้เป็นคุณครูสอนเด็กนักเรียนประถมฯ จริงๆ เลย เด็กที่นั่นเก่งกันมาก แม้จะดื้อ จะซน แต่พวกเขาก็ยังมีสัมมาคารวะ และตั้งใจเรียนมาก ที่สำคัญมีน้ำใจสุดๆ เลยจ่ะ ^^



(^/\^) (^/\^) (^/\^)

คำอวยพรของน้องๆ อันนี้พี่ชอบสุดๆ เลยจ่ะ นี่เป็นความฝันสูงสุดของพี่เลยนะ พี่จะพยายามและทำมันให้จนได้จ่ะ ขอบคุณทุกคนมากนะจ๊ะ ^^



ค่าย

ค่าย Asean


ค่ายวิชาการภาษาอังกฤษ
"เยาวชนไทย ก้าวไกลสู่อาเซียน"
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 ที่โรงเรียนบ้านมะค่า ค่ะ^^



มันเป็นอะไรที่เหนื่อยมากๆ เสียงแหบ เสียงแห้งหมด แต่ก็สนุกดีนะคะ
แค่เห็นเด็กๆ มีความสุข เราก็มีความสุขตามไปด้วย อยากออกค่ายแบบนี้บ่อยๆ ค่ะ สนุกดี เหนื่อยดี และได้ฝึกประสบการณ์เยอะเลยทีเดียว



เด็กๆ ที่นี่ น่ารัก และเก่ง กันทุกคนเลยค่ะ จำประเทศที่อยู่ใน Asean ได้หมด อีกทั้งยังจำคำกล่าวทักทาย กล่าวลา รวมทั้งขอบคุณ และภาษาที่ใช้ในแต่ละประเทศ ใน Asean  ได้อีกด้วย ขอชื่นชมว่าน้องๆ เก่งมากจริงๆ ค่ะ ^^  น้องๆ บางคนเขียนหนังสือไม่ออก อ่านไม่ได้ พี่ๆ ก็ช่วยเขียนให้ พาอ่าน หรือไม่ก็ให้ลอก น่ารักมากจริงๆ ค่ะ อยากบอกว่า... พี่รู้สึกดีใจมาก ที่มองเห็นอนาคตของชาติ สดใสแบบนี้ ^_^



ประเทศที่กลุ่มเราได้รับมอบหมาย "ประเทศไทย"  Thailand only !! นี่เอง เราได้นำเอาการละเล่นพื้นบ้านของไทย ไปให้เด็กๆ ได้เล่นกัน ทั้ง มอญซ่อนผ้า เดินกะลา และไม้โถกเถก ในภาพเป็นการแข่งเดินโถกเถง ของสองพี่น้องฝาแฝด น้องเก๋ กับ น้องเก๋ง ผลออกมาคือเสมอกัน น้องๆ ทั้งสองเก่งมากเลยค่ะ ขนาดพี่ยังเดินไม่ได้เลย 5555 






กุ้ง

อุปกรณ์ดักกุ้งฝอยจากขวดพลาสติก


ต๋อนเป็นดิ๊กน้อย ค้ำๆ มา พ้อล่ะพาไป๋เส่อ "โล่งกุ้ง" ตลอด

ตอนเป็นเด็กน้อย ช่วงค่ำๆ พ่อจะพาไปดักกุ้งฝอยตลอด โดยใช้อุปกรณ์ดักกุ้งฝอยจากขวดพลาสติก ที่ทำจากขวดพลาสติกเหลือใช้ หรือที่บ้านเรียกว่า โล่งกุ้ง เหยื่อหรืออาหารล่อ ส่วนมากจะเป็นข้าวเหนียวจี่ ผสมกับรำและน้ำปลาร้าซักหน่อย เพื่อให้กุ้งได้กลิ่น แล้วนำมาตำ ปั้นเป็นก้อนเล็กๆ หย่อนลงไปในขวดนั้น แล้วไปเสียบไว้ตามริมแม่น้ำ สระ หรือห้วย หนอง เช้าๆ มาค่อยไปเก็บ แหม่ !! แต่ละครั้งเนี่ยได้มาเยอะเลยนะ ส่วนมากได้มาแล้วคนที่บ้านจะชอบคั่ว หรือไม่ก็ ก้อยแบบดิบๆ 



ก้อยกุ้ง

อาหารที่ทางบ้านโปรดปรานมาก ก้อยกุ้ง (ดิบ) อร่อยมากเลยค่ะ แต่ขอบอกว่าถ้าจะกินต้องระวังนิดส์นึง เพราะยังดิบอยู่ อาจมีพยาธิติดมาด้วย ทางที่ดี ต้องทำให้กุ้งสุกก่อน แล้วค่อยนำมาก้อย จะดีที่สุดค่ะ (แต่รสชาติ และฟิว จะต่างกันมาก อิอิอิ) 



ข้าวจี่


ฝนตก ลมหนาวแบบนี้ เยอะกิ๋น "เค่าจี่" ทาไข่ ฮ้อนๆ เด๊ 
คือล่ะแซบแถะ

ฝนตก ลมหนาวแบบนี้ อยากกินข้าวจี่ทาไข่ ร้อนๆ จัง คงอร่อยน่าดู  
ว่าแล้วก็คิดถึงบ้านอีกละ  อาหารที่ไหนก็ไม่อร่อยเท่าอาหาร บ้านๆ พื้นเมืองของคนภูไทเขาวงหรอก  แต่ !! แม้ว่าจะเป็นอาหารพื้นบ้านก็เหอะ ถ้าไม่ใช่ฝีมือ "คุณยาย" นะ ก็ไม่อร่อยทั้งนั้นแหละ อิอิอิ ขนาดคุณแม่ยังไม่สู้เลย 5555


ตำมะหุ่ง กะคือเด๋ว ขั่นตำกิ๋นยูเฮินหนิแซบขนาด !!

ส้มตำก็เหมือนกัน ถ้าเป็นส้มตำที่ตำเองอยู่บ้านเนี่ยยอร่อยอย่าบอกใครเลย...

ส้มตำที่นี่(สารคาม) ยิ่งไม่เหมือนกับที่เขาวงอยู่ด้วย "ตำป่า" ที่เขาวง ใส่ขนมจีนด้วย แต่ที่สารคาม ต้อง "ซั่วป่า" ถึงจะมีขนมจีน เห้อออออ !! ยิ่งช่วงมาอยู่แรกๆ ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ อยากกินส้มตำแบบธรรมดา เลยไปสั่งแม่ค้าว่า "เอาส้มตำธรรมดาค่ะ" แม่ค้าเลยถาม เอา "ตำลาว" หรอ? ไม่ค่ะ ส้มตำธรรมดา ซึ่งเราหารู้ไม่ ว่า ตำลาว ก็คือ ส้มตำธรรมดา หรือตำมะหุ่ง บ้านเรานี่เอง 5555 (ยิ่งคิด ยิ่งเขิน)

กลับบ้านรอบนี้นะ จะให้คุณยาย ตำมะหุ่ง ให้กินเอาแบบแซบๆ แล้วก็ให้คุณตา ทำ ข้าวจี่ ให้กิน แบบ ใส่ไข่เยอะๆ เลย ชอบบบ ^^

PS. แฮงเบิ่งรูป แฮงน้ำลายไหล แอร๊ยยย !!  อยากกิน


วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

Life !!


"ชีวิตคือข้อสอบที่ยากที่สุด"
หลายคนล้มเหลวเพราะมัวแต่ไปทำตามคนอื่น 
โดยที่ไม่รู้เลยว่าแต่ละคนนั้นได้ข้อสอบไม่เหมือนกัน!!



แน่นอนค่ะว่าบางคนก็ใช้คนอื่น โดยเฉพาะเพื่อน เพื่อวัดประสิทธิภาพ หรือ ตัวตนของตัวเอง หรือแม้กระทั่งแข่งกับตัวเอง บางคนอยากได้ อยากมี อยากเด่น อยากเป็นเหมือนคนอื่น หรือบางครั้งก็เลือกตามคนอื่น โดยที่ไม่ดูศักยภาพหรือความต้องการของตนเอง ไม่คิดว่า คนเรา เกิดมาย่อมแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว  สติปัญญา หรือแม้แต่หน้าตา และอีกมากมาย เพราะฉะนั้นอย่าเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นกันเลยค่ะ ตัวเองจะเป็นอย่างไร จะทำอะไร อยู่ที่ตัวของเราเอง แข่งกับตัวเองดีกว่า  แค่ทำข้อสอบของตัวเองได้  ก็ถือว่าทำข้อสอบทุกอย่างได้แล้ว

เขาวง

อันคำเว้าคำจาว้าอ่อนหวาน
ว้าน้ำตาลป๋านอ้อยยามคุยกัน
แม้นดั้ยไปสำผัดแค่เพียงวัน
ถิ่นฐานนั้นสวยงามตามวาจา
กะขอเชิญพี่น้องจงแวะมา
นั้งฮวมพาข้าวปลากินนำกัน
มารู้จักที่มาและชาติพันธุ์
เขาวงนัั้นถิ่นฐานคนภูไท



    สภาพบรรยากาศสดๆ จากอาทิตย์ก่อน ช่วงนี้พายุเข้า ฝนตกแทบทุกวันเลย ท้องฟ้ามืดครึ้มตลอด เห้ออออออ !! ช่วงนี้ไม่ค่อยได้กลับบ้านอีกต่างหาก เพราะติดสอบ งานก็เยอะ แต่ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็ปิดเทอมแล้ว เย้ๆๆๆ ดีใจจะได้กลับบ้าน

เขาวง !!??  ก็อย่างที่เห็นแหละจ่ะ มีภูเขาล้อมรอบหรือบางคนจะชอบเรียก ภูอ้อม มองไปทางไหนก็มีแต่ภูเขา ภูเขา และ ภูเขา 5555  มีน้ำตกให้ไปเที่ยวด้วยนะ และสถานที่ท่องเที่ยวอีกเยอะ คนที่นี่ใจดี พูดจาไพเราะ แอร๊ยย ยิ่งพูดก็ยิ่งคิดถึง ถ้าใครสนใจ ว่างๆ ก็ไปเที่ยวชมได้นะจ๊ะ ยิ่งคนที่อยู่สารคาม ไม่มีภูเขาด้วยแล้ว ถ้าไปเห็นต้องตกหลุมรัก เขาวง แน่นอน ^^



success !!



ข้อยมิเคยฝันหอดความสำเร็จ  ข้อยลงมือเอ็ดเพ้อเห้อได้มันมา

"ฉันไม่เคยฝันถึงความสำเร็จ  ฉันลงมือทำเพื่อให้ได้มันมา

หวังว่านี่คงจะให้ข้อคิดดีๆ กับท่านผู้อ่านเป็นอย่างมากนะคะ อย่ามัวแต่ฝันถึงมัน ลงมือทำมันเถอะค่ะ ^^




Lie !!




ภูไท : เฮายิขี้โต๊ะเพอกะได้ยูโลกนี้  แต่เฮามี่ได้มื้อล่ะขี้โต๊ะผู้เจ้าได้แน้นอน

กลาง : เราจะโกหกใครก็ได้บนโลกใบนี้ แต่เราไม่มีวันโกหกตัวเองได้แน่นอน

เหนื่อยก็พัก

เม้ยกะพักแนเด่อ
(เหนื่อยก็พักบ้างนะ)



ภาษาภูไท : โซ้งนี้สอบ ทังอ่านหนังสือ ทังปั่นงาน มิซำบ๋ายอิ๊ต่างฮะ เม้ยกะเท้า ขอพักจักน่อยแนเด่อ

ภาษากลาง : ช่วงนี้สอบ ทั้งอ่านหนังสือ ทั้งปั่นงาน แล้วยังไม่สบายอีก เหนื่อยมากๆ ขอพักสักหน่อยละกัน 

ยูคำ

ยูคำ



ยูคำ หรือ การอยู่ไฟ สมัยก่อนขณะที่ภรรยาครรภ์แก่ใกล้จะคลอด สามีต้องไปหาฝืนมาเตรียมไว้ให้ภรรยาสำหรับอยู่ไฟหลังคลอด ห้ามคนอื่นตัดฟืนแทน ฟืนที่ใช้ในการอยู่ไฟมักใช้ไม้สะแกหรือไม้มะขาม เพราะเป็นไม้หาง่ายและเมื่อไหม้เป็นถ่านแล้วจะมีขี้เถ้าน้อย นอกจากนี้ควรจะมีไม้ทองหลางด้วย เพราะเชื่อว่ากันปวดมดลูกและแก้พิษเลือด แต่ถ้าเป็นท้องสาวให้ใช้ฟืนไม้เบญจพรรณ จะได้คุ้นกับการอยู่ไฟด้วยไม้ต่าง ๆ ได้ดีเมื่อคลอดลูกคนหลัง ๆ เมื่อมารดาคลอดบุตรแล้วต้องรับประทานส้มมะขามเปียกกับเกลือก่อนนอนไฟ แล้วอยู่ไฟด้วยเตาเชิงกรานนานถึง 15 - 30 วัน

คุณแม่ที่ยูคำ ปากและฟันจะแดงหรือไม่ก็ดำ เพราะเขาต้องดื่มน้ำสมุนไพรทุกวัน ญาติหรือคนที่ไปเยี่ยมบางคนจะชอบขอดื่มน้ำสมุนไพรนั้นด้วย เพราะจะได้มีแรง และรู้สึกสดชื่น (อันนี้เราเห็นจากที่เราไปเยี่ยมคุณแม่ลูกอ่อนหลายๆ คน ทั้งแม่เรา ทั้งคุณยายจะชอบขอกินน้ำสมุนไพร ตลอดๆ 5555)แต่การยูคำนี้จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ช่วยทำให้น้ำนมไหลดีขึ้น ช่วยลดภาวะความรู้สึกหนาวและอ่อนเพลียเนื่องจากเสียเลือดขณะคลอด ช่วยขับน้ำคาวปลา ช่วยลดความเจ็บปวดขณะมดลูกหดรัดตัวเข้าสู่ภาวะปรกติ หรือที่เรียกว่ามดลูกเข้าอู่ ช่วยขับของเสียออกทางผิวหนัง ช่วยให้ผิวพรรณสดใส ช่วยลดความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อจากการคลอด และช่วยรักษาอาการบาดเจ็บจากแผลหลังการคลอดหรือผ่าตัด แต่คุณแม่กับคุณลูกน้อยๆ จะทรมานหน่อย เพราะร้อนมากๆ 

เรียนรู้ ภาษาภูไท

มาหูจักภาษาภูไท (มารู้จักภาษาภูไท)


ใช้ ออกเสียงเป็น เซ้อ เช่น เซ้อเห้อไป๋เมิง(เมือง) มิเห้อเว้าไก๋ แปลว่า ใช้ให้เข้าไปในเมือง ห้ามบอกว่าไกล
ใต้ = เต้อ เช่น  เฮินข้อยยุทางบ้านเต้อพู้น แปลว่า บ้านฉันอยู่ทางใต้นู่น
ใด, ไหน = เลอ เช่น หองเจ้าน่ะอั๋นเลอ แปลว่า ของเธออ่ะอันไหน
ใคร = เพอ เช่น เพอเอ็ดผะเหลอยูซิเลอ ใครทำอะไรอยู่ที่ไหน
ใกล้ = เค่อ เช่น เพอยูไก๋เพิ้นเห้อ เพอยูเค่อเพิ้นซัง แปลว่า ใครอยู่ไกลเขาจะให้ ใครอยู่ใกล้เขาจะเกลียด
ใบ = เบ๋อ เช่น ไปเอ๋าเบ๋อตองโก้ยมาเห้อแน แปลว่า ไปเอาใบตองมาให้หน่อย
อะไร = ผะเหลอ เช่น เอ็ดผะเหลอยู แปลว่า ทำอะไรอยู่
หัวใจ = โหเจ๋อ เช่น เอ๋าผะเหลอเอ็ดโหเจ๋อ แปลว่า เอาอะไรทำหัวใจ
ทำ = เอ็ด เช่น เอ็ดอั๋นกิ๋นแซบ แปลว่า ทำอาหารอร่อย 


ประมาณนี้ก่อนนะคะ ใครสนใจ หรือสงสัยอะไร เม้น หรือ สอบถามได้นะคะ  ขอบคุณค่ะ ^^


สาวภูไท

สาวภูไทงามขนาด





ลุสาว สส. ประเสริฐ  บุญเรื่อง สส.กาฬสินธุ์ เขต 6
ลุสาวหล้า เพิ้นได้ลุสาวทั้งเหมิด 3 คน ขอเบ๊าะว้า งาม เหมิดเฮินจ้า ^^
(ลูกสาวท่าน สส. ประเสริฐ  บุญเรื่อง สส. กาฬสินธุ์ เขต 6 
ลูกสาวคนสุดท้อง ซึ่งท่านมีลูกสาวทั้งหมด 3 คน ขอบอกว่า สวย กันทั้งบ้านค่ะ)

งานภูไท นานาชาติ ^^

งานภูไทนานาชาติ ครั้งที่ 1 





นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเปิดงานผู้ไทนานาชาติ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2555 ซึ่งเทศบาลตำบลกุดสิม อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดขึ้นเพื่อร่วมอนุรักษ์ สืบสาน ประเพณีวัฒนธรรมผู้ไท โดยมีชาวผู้ไทยจากประเทศลาว เวียดนาม และไทย นับหมื่นคนร่วมงาน



งานภูไทนานาชาติ ครั้งที่ 2


งานมหกรรมภูไทนานาชาติครั้งที่ 1 ประจำปี 2555 จัดขึ้นที่อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีท่านนายกรัฐมนตรีของไทยเราเป็นประธานเปิดงาน ซึ่งมีชาวภูไทจากหลายประเทศมาร่วมในงาน ทุกคนที่ไปร่วมในงานต้องแต่งกาย "ชุดภูไท"(แต่ละชนเผ่าอาจจะไม่เหมือนกัน ซึ่งจากในภาพ เป็นชุดประจำเผ่าของ  ภูไทเขาวง) ท่านนายกของเราใส่ชุดภูไทเข้าไปแล้ว (ซับกะเท้า) สวยมากๆ เลยค่ะ ตัวเล็กๆ ขาวๆ นึกว่าเป็นคนภูไทจริงๆ เลย 555  ในครั้งที่ 2 ประจำปี 2556 ก็จัดที่ อำเภอเขาวงเช่นกัน แต่ครั้งนี้ท่านนายกไม่ได้เป็นประธานไปเปิดงาน  และในครั้งที่ 3 ประจำปี 2557 จะจัดขึ้นที่จังหวัดมุกดาหาร ส่วนรายละเอียดยังไม่ทราบแน่นอน แต่จะอยู่ในช่วงต้นเดือนมีนาคม ถ้าใครว่างๆ หรือสนใจ เชิญเที่ยวชมได้นะคะ       


บรรยากาศ การประกวด ธิดาสาวภูไท ครั้งที่ 1 ^^ ซับซุคนเลยจ้าา (สวยทุกคนเลยจ้าา)

วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

ประวัติภูไท อำเภอเขาวง

ภูไทเขาวง



    ประชากรในอำเภอเขาวงเป็นคนเชื้อสายผู้ไท ย้ายถิ่นฐานมาจากเมืองวัง แขวงคำม่วน เมื่อปี พุทธศักราช 2384 โดยในปีดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งให้พระมหาสงครามเป็นแม่ทัพนำกำลังไปตีเมืองวังและเมืองใกล้เคียง เนื่องด้วยปี พุทธศักราช.2369 เจ้า อนุวงศ์ผู้ครองนครเวียงจันทร์เป็นกบฎต่อประเทศไทย กองทัพไทยไปปราบลงได้ ต่อมาประเทศไทยเป็นคู่อริกับญวน เพื่อแย่งพื้นที่การปกครองบริเวณเขมร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 จึงมีรับสั่งให้ส่งกองทัพไปตีเมืองวัง เพื่อเป็นการตัดกำลังเสบียงญวน เมื่อตีเมืองวังได้จึงกวาดต้อนผู้คนจำนวน 3,003 คน กลับเมืองไทยซึ่งมีบุคคลชั้นนำมาด้วย เช่น เจ้าราชวงศ์กอ ท้าวด้วย บุตรเจ้าเมืองวัง ท้าวต้อบุตรอุปฮาด(อุปราช) เมืองวัง เมื่อมาถึงบริเวณภูพาน จังหวัดสกลนคร ได้ปลดปล่อยให้เป็นอิสระและตั้งถิ่นฐาน ประกอบอาชีพบริเวณนั้นได้ประมาณ 2 ปี ต่อมาเกิดน้ำท่วมหนัก จึงได้พากันอพยพลงมาทางทิศใต้  มาถึงบริเวณภูมิประเทศเป็นที่ราบสองฝั่งลำน้ำยัง(บริเวณอำเภอเขาวง) กับมีลำน้ำสายเล็กๆอื่นในบริเวณนั้นอีกหลายสาย อีกทั้งมีกุดน้ำ (หนองน้ำ) หลายที่ ซึ่งกุดน้ำแห่งแรกที่พบ มีก้อนหินลายคล้ายใบเสมาอยู่ เห็นว่าบริเวณดังกล่าวมีความเหมาะสมจึงพากันตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นหมู่บ้าน เรียกชื่อหมู่บ้านว่า บ้านกุดสิมนารายณ์ ตั้งแต่ปีนั้น ต่อมาเมือ่ปี พ.ศ.2388 (จ.ศ.1207) ตรงกับปีมะเส็ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นเมืองกุดสิมนารายณ์ ขึ้นกับเมืองกาฬสินธุ์
วิดีโอประวัติความเป็นมาของภูไทเขาวงค่ะ 



คำขวัญ : เขาวงดงอู่ข้าว สาวภูไทยงาม น้ำตกพริ้ว ทิวเขาเรียงราย มากมายผ้าห่ม อุดมวัฒนธรรม อ่างวังคำน้ำใส ทฤษฎีใหม่น้ำพระทัยจากในหลวง

PS. สาวภูไทยงาม!?? อาจจะตกใจสักนิด แหม่!! พอดีตอนที่เขาแต่งคำขวัญ เรายังไม่เกิดนี่นา เอาเป็นว่าเราถูกยกเว้นละกันนะ 555555

ประวัติความเป็นมาของเผ่าภูไท

คนภูไท


ความเป็นมาของเผ่าภูไท 

       ชาวภูไท เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดรองลงมาจากกลุ่มไทลาว ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีแม่น้ำโขงแยกกลุ่มนี้ออกจากภูไทในภาคเหนือของลาว และญวน กลุ่มภูไทกลุ่มใหญ่ที่สุดอาจจะอยู่แถบลุ่มน้ำโขง และแถบเทือกเขาภูพาน
เช่น จังหวัดนครพนม ได้แก่อำเภอคำชะอี ธาตุพนม เรณูนคร นาแก จังหวัดสกลนคร ได้แก่ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้แก่ อำเภอกุฉินารายณ์ เขาวง สหัสขันธ์ ส่วนภูไทผู้เข้าสู่ภาคกลางในจังหวัดราชบุรี และเพชรบุรี ในย่านนั้นเรียกว่า ลาวโซ่ง
      เผ่าภูไท เป็นคนเผ่าไทยกลุ่มหนึ่งที่มีอยู่ในแคว้นสิบสองจุไทย และอาณาจักรล้านช้าง การเคลื่อนย้ายของชาวภูไท เข้าสู่ภาคอีสานมีหลายครั้ง และมาจากที่ต่างๆ จึงทำให้กลุ่มภูไทที่เข้ามาอยู่ในจังหวัดสกลนคร เรียกชื่อตัวเองตามแหล่งเมืองเดิมของตนเช่น ผู้ไทวัง คือ ผู้ไทที่อพยพมาจากเวงวัง มาตั้งบ้านเรือนอยู่แถบอำเภอพรรณานิคม       
      ผู้ไทกระป๋อง คือภูไทที่อพยพมาจากเมืองกะปอง มาตั้งบ้านเรือนในเขตอำเภอวาริชภูมิ ผู้ไทกะตาก คือผู้ไทที่อพมาจากเมืองกะตาก มาตั้งบ้านเรือนอยู่แถบตำบลโนนหอม และแถบริมหนองหาร ทางทิศใต้
      ชาวภูไทมีลักษณะความเป็นอยู่แบบครอบครัวใหญ่ในบ้านเดียวกัน เป็นกลุ่มคนทำงานที่มีความขยันขันแข็ง มัธยัสถ์ ทำงานได้หลายอาชีพเช่น ทำนา ทำไร่ ค้าวัว ค้าควาย นำกองเกวียนบรรทุกสินค้าไปขายต่างถิ่นเรียกว่า นายฮ้อยเผ่าภูไทเป็นกลุ่มที่พัฒนาได้เร็วกว่าเผ่าอื่น มีความรู้ความเข้าใจและมีความเข้มแข็งในการปกครอง มีหน้าตาที่สวย ผิวพรรณดี กริยามารยาทแช่มช้อย มีอัธยาศัยไมตรีในการต้อนรับแขกแปลกถิ่นจนเป็นที่กล่าวขวัญถึง
      เผ่าภูไทนิยมนุ่งผ้าซิ่นหมี่ตีนต่อ เป็นผืนเดียวกันกับผ้าผืนกว้างประมาณ 4-5 นิ้ว ย้อมครมเกือบสีดำ เรียกว่าผ้าดำหรือซิ่นดำ สวมเสื้อแขนกระบอกสามส่วน สำดำขลิบแดง ติดกระดุมเงิน หรือเหรียญสตางค์ หรือกระดุมขาวมาติดเรียงสองแถวห่มด้วยผ้าขิดพื้นเมือง เปลือยไหล่ด้านขวา ห่มด้านซ้ายและมัดชายผ้าสีข้างด้านขวา นิยมสวมสร้อยคอ สร้อยข้อมือ ข้อเท้า ด้วยโลหะเงิน เกล้าผมเป็นมวยสูงตั้งตรง ใช้ผ้ามนหรือแพรมนทำเป็นผ้าสี่เหลี่ยมเล็กๆ ม้วนผูกมวยผม
     วัฒนธรรมประเพณี เผ่าภูไท มีเอกลักษณ์เป็นจุดเด่นหลายประเภท เช่น การแต่งทำนองดนตรี เรียกว่า ลายเป็นเพลงของภูไทมีบ้านแบบภูไทคือ มีป่องเอี้ยม เป็นช่องลม มีประตูป่อง หน้าต่างยาวจรดพื้น มีห้องภายในเรือนเป็นห้องๆ ที่เรียกว่า ห้องส่วม
     นอกจากนั้นยังมีวัฒนธรรมการทอผ้าห่มผืนเล็กๆ ใช้สำหรับห่มแทนเสื้อกันหนาวใช้คลุมไหล่ เรียกว่า ผ้าจ่อง นอกจากนี้แล้วยังมีผ้าแพรวา ใช้ห่มเป็นสไบ ซึ่งมีแหล่งใหญ่ที่บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ และมีผ้าลาย ใช้เป็นผ้ากั้นห้องหรือห่มแทนเสื้อกันหนาวได้ ซึ่งมีแหล่งใหญ่อยู่บ้านนางอย อำเภอเตางอย จังหวัดสกลนคร ประเพณีที่สำคัญของเผ่าภูไทซึ่งถือกันแต่โบราณ ได้แก่ การลงข่วง พิธีแต่งงาน การทำมาหากิน การถือผี และการเลี้ยงผี

ประวัติความเป็นมา
          ในพงศาวดารเมืองแถง(แถน) กล่าวถึง การกำเนิดมนุษย์และถิ่นกำเนิดของชาวภูไทว่า เกิดจากเทพสามีภรรยา 5 คู่ ซึ่งเป็นพี่น้องกัน เมื่อหมดอายุบนสวรรค์จึงอธิษฐานจิตเนรมิตน้ำเต้าขึ้นมา เทพทั้ง 5 คู่ ก็เข้าไปอยู่ในน้ำเต้า น้ำเต้าลอยจากสวรรค์มาตกบนภูเขาที่ทุ่งนาเตา ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองแถงไปทางตะวันออกเป็นระยะทางเดิน 1 วัน น้ำเต้าได้แตกออก เทพได้กลายเป็นมนุษย์ 5 คู่ ออกมาจากน้ำเต้าทีละคู่ตามลำดับ คือ ข่า แจะ ภูไท ลาวพุงขาว ฮ่อ(จีน) และแกว(ญวน) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของมนุษย์ 5 เผ่าพันธุ์ในเวลาต่อมาคนเหล่านี้ได้แยกย้ายกันตั้งรกรากในพื้นที่ต่าง ๆสำหรับชาวภูไทตั้งบ้านเรือนที่เมืองแถง มีขุนลอคำเป็นหัวหน้า ประชากรของภูไทได้เพิ่มจำนวนถึง 33,000 คนในเวลาต่อมา และขยายตัวไปตั้งรกรากหลายเมือง ขุนบรมราชบุตรของขุนลอคำ ได้เป็นเจ้าเมืองแถงใน พ.ศ. 1274 ขุนลอบุตรของขุนบรมราชาได้มาตั้งเมืองหลวงพระบางใน พ.ศ. 1283จากพงศาวดารเมืองไล กล่าวว่า ชาวภูไท ในดินแดนนี้ 2 พวกคือ
     1. ภูไทขาว อาศัยอยู่เมืองเจียน เมืองมุน เมืองบาง มีเมืองไลเป็นเมืองใหญ่ รวม 4 เมือง ดินแดนแถบนี้อยู่ใกล้ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อากาศหนาว ชาวภูไทจึงมีผิวขาว อีกทั้งได้รับอารยธรรมจากจีน โดยเฉพาะการแต่งกายในพิธีศพ ซึ่งนิยมนุ่งขาว ห่มขาว จึงเรียกชาวภูไทกลุ่มนี้ว่า ?ภูไทขาว?

     2. ภูไทดำ อาศัยอยู่เมือง ควาย,เมืองคุง เมืองม่วย, เมืองลา เมืองโมะเมืองหวัด เมืองซาง มีเมืองแถง(แถน) เป็นเมืองใหญ่ รวมเป็น 8 เมือง ชาวภูไทกลุ่มนี้มีผิวคล้ำกว่าภูไทตอนบน และนิยมแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมืองย้อมครามเข้ม และอาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำดำ ซึ่งเป็นแหล่งเกษตรกรรม จึงเรียกว่า ?ภูไทดำ?ชาวภูไททั้ง 2 กลุ่ม รวมกันแล้วเป็น 12 เมือง จึงเรียกว่า แคว้น ?สิบสองจุไทย?เมืองไล เมืองของชาวภูไทขาว ตั้งอยู่ในดินแดนคาบเกี่ยว หรือตะเข็บของลาว จีน และญวน เพื่อความอยู่รอด เมืองนี้จึงจำเป็นต้องอ่อนน้อมแก่ทั้ง 3 ฝ่าย ต้องส่งส่วยแก่ทุกฝ่ายเดิมแคว้นสิบสองจุไทย ขึ้นกับอาณาจักรน่านเจ้า ครั้นต่อมาไปขึ้นอยู่กับอาณาจักรโยนกเชียงแสน เมื่ออาณาจักรโยนกเชียงแสน ถูกพวกภูไทมาทำลายลง สิบสองจุไทยได้ไปขึ้นกับแคว้นหิรัญเงินยวง (ต่อมาแคว้นนี้เป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรลานนา)ใน พ.ศ.2250 อาณาจักรล้านช้างได้แตกเป็น 2 อาณาจักร คือทางเหนือ เรียกว่า อาณาจักรล้านช้างร่มขาวหลวงพระบาง ทางใต้ เรียกว่า อาณาจักรล้านช้างร่มขาวเวียงจันทน์ สิบสองจุไทยอยู่ภายใต้การดูแลของอาณาจักรแรกต่อมาบังเกิดการอัตคัดอดอยาก และความขัดแย้งระหว่างท้าวก่า หัวหน้าของชาวภูไท กับเจ้าเมืองนาน้อยอ้อยหนู (น้ำน้อยอ้อยหนู) ท้าวก่าจึงพา ชาวภูไทเป็นจำนวนมาก (ประมาณหมื่นคน) อพยพจากเมืองนาน้อยอ้อยหนูมาขอขึ้นกับเวียงจันทน์ โดยทางเวียงจันทน์ให้ไปตั้งถิ่นฐานที่เมืองวัง (อยู่ทางตะวันออกของเมืองมุกดาหาร ห่างประมาณ 150 กิโลเมตร) ชาวภูไทกลุ่มนี้ ได้ส่งส่วยมีดโต้และขวานให้เวียงจันทน์ ปีละ 500 เล่ม แต่เนื่องจากเมืองวังอยู่ชายแดนอาณาจักรล้านช้างร่มขาวเวียงจันทน์ แต่ใกล้พรมแดนเวียดนาม พวกเขาจึงได้ส่งส่วยขี้ผึ้ง 5 ปึก (ปึกหนึ่งหนัก 5 ชั่ง) ให้แก่ เจ้าเมืองคำรั้วของเวียดนามด้วย

การอพยพของชาวภูไทเข้าสู่ประเทศไทย มี 3 ระลอกด้วยกันคือ
          ระลอกที่ 1 สมัยธนบุรี ระหว่าง พ.ศ. 2321-2322 เมื่อกองทัพไทยซึ่งมีเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ 1) กับเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ได้นำกองทัพไทยสองหมื่นคนตีหัวเมืองลาว ตั้งแต่จำปาศักดิ์ถึงเวียงจันทน์เอาไว้ได้ หลวงพระบางซึ่งไม่ถูกกับเวียงจันทน์มาก่อนก็นำกำลังมาช่วยตีเวียงจันทน์ด้วย แม่ทัพไทยได้ให้กองทัพหลวงพระบางไปตีเมืองทันต์ (ญวนเรียก ซือหวี)เมืองมวย ซึ่งเป็นเมืองของชาวภูไทดำได้ทั้งสองเมือง แล้วกวาดต้อนชาวภูไทดำ(ลาวทรงดำ) เป็นจำนวนมากมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองเพชรบุรี นับเป็นชาวภูไทรุ่นแรกที่มาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย
          ระลอกที่ 2 สมัยรัชกาลที่ 1 ใน พ.ศ. 2335 กองทัพเวียงจันทน์ตีหลวงพระบางแตกและจับกษัตริย์หลวงพระบางส่งกรุงเทพ ฯ ใน พ.ศ.2335-2338 กองทัพเวียงจันทน์ได้ตีเมืองแถง และเมืองพวน ซึ่งแข็งข้อต่อเวียงจันทน์ กวาดต้อนชาวภูไทดำ ลาวพวนเป็นเชลยส่งมากรุงเทพ ฯ รัชกาลที่ 1 ทรงมีรับสั่งให้ชาวภูไทดำประมาณ 4,000 คนไปตั้งถิ่นฐานที่เพชรบุรีเช่นเดียวกับชาวภูไทดำรุ่นแรก
          ระลอกที่ 3 สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นการอพยพประชากรครั้งใหญ่ที่สุดจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเข้ามาอยู่ในประเทศไทย สาเหตุของการอพยพ คือ เกิดกบฎเจ้าอนุวงศ์ใน พ.ศ. 2369 - 2371 และเกิดสงครามระหว่างไทยกับเวียดนามในระหว่างปี พ.ศ.2376-2490 ยุทธวิธีของสงครามสมัยนั้น คือ การตัดกำลังฝ่ายตรงข้ามทั้งฝ่ายไทยและเวียดนามต่างกวาดต้อนประชากรในดินแดนลาวมาไว้ในดินแดนของตนสำหรับประชากรในดินแดนลาวที่ถูกไทยกวาดต้อนมาอยู่ในประเทศไทยจะมีทั้ง ภูไท กะเลิง โซ่ ญ้อ แสก โย้ย ข่า ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกกวาดต้อนมาไว้ในภาคอีสาน ส่วนลาวพวน ลาวเวียง กวาดต้อนให้มาตั้งถิ่นฐานทั้งในภาคอีสานและภาคกลางของประเทศไทย แถบฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม เป็นต้นชาวภูไทที่ถูกกวาดต้อนมาในระลอกที่ 3 จะแยกเป็น 8 กลุ่มด้วยกัน สำหรับชาวภูไทในเขตจังหวัดสกลนคร เป็นพวกที่อพยพเข้ามาในกลุ่มที่ 3 และกลุ่มที่ 8 ดังนี้
         กลุ่มที่ 3 อพยพมาจากเมืองวัง มาตั้งถิ่นฐานที่เมืองพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร (ใน พ.ศ.2513 อำเภอพรรณานิคม มี 7 ตำบล มีชาวภูไททั้ง 7 ตำบล รวม 65หมู่บ้าน 32,037 คน อำเภอเมืองสกลนคร มีภูไท 48 หมู่บ้าน ใน 13 ตำบล จาก 17 ตำบล อำเภอพังโคน มีภูไท 4 ตำบล 23 หมู่บ้าน อำเภอบ้านม่วง มีภูไท 3 ตำบล 16 หมู่บ้าน อำเภอวานรนิวาส มีภูไท 4 ตำบล 8 หมู่บ้าน อำเภอกุสุมาลย์ 2 ตำบล 4 หมู่บ้านอำเภอสว่างแดนดิน 2 ตำบล 3 หมู่บ้าน อำเภอกุดบาก 1 ตำบล 3 หมู่บ้าน อำเภอวาริชภูมิ 4 ตำบล 42 หมู่บ้าน รวมทั้งจังหวัดสกลนครมีภูไท 212 หมู่บ้าน 20,945 หลังคาเรือน 128,659 คน)
          กลุ่มที่ 8 อพยพจากเมืองกะป๋อง มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านปลาเป้า บ้านนียกเป็นเมืองวาริชภูมิ และตั้งท้าวพระยาสุวรรณเป็นพระสุรินทรบริรักษ์ เป็นเจ้าเมืองคนแรก ใน พ.ศ. 2410 ปลายสมัยรัชกาลที่ 4 (ใน พ.ศ.2513 มีภูไทในอำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร 4 ตำบล ตำบลวาริชภูมิ 1 หมู่บ้าน ตำบลคำบ่อ 12 หมู่บ้าน ตำบลปลาโหล 9 หมู่บ้าน และตำบลเมืองลาด 7 หมู่บ้าน รวม 42 หมู่บ้าน)ชาวภูไทที่ถูกกวาดต้อน-อพยพมาตั้งภูมิลำเนา ในจังหวัดสกลนคร อย่างเป็นปึกแผ่น ได้รับความร่มเย็นเป็นสุข หัวหน้าแต่ละพวกที่แยกย้ายกันอยู่ ได้ติดต่อปรึกษากับเจ้าเมืองที่ตนอาศัยอยู่เพื่อขอตั้งเมือง เช่น เจ้าเมืองโฮงกลางสี ที่อยู่บ้านพังพร้าว ท้าวแก้ว อยู่ที่บ้านจำปา และท้าวราชนิกุล อยู่บ้านหนองหอย ก็ติดต่อกับเจ้าเมืองสกลนคร เพื่อตั้งหมู่บ้านที่ตนตั้งภูมิลำเนาอยู่เป็นเมือง คือ บ้านพังพร้าว ขอตั้งเป็นเมืองพรรณานิคมบ้านจำปา ขอตั้งเป็นเมืองจำปาชนบท และบ้านหนองหอย ขอตั้งเป็นเมืองวาริชภูมิ เป็นต้นสำหรับชาวภูไททั้ง 8 กลุ่ม ได้ขยายจำนวนออกไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ต่าง ๆ ของภาคอีสานอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา รวมเป็น 9 จังหวัด 33 อำเภอ 494 หมู่บ้าน สรุปได้ดังนี้

1.จังหวัดสกลนคร 212 หมู่บ้าน 9 อำเภอ(พรรณานิคม เมืองสกลนครวาริชภูมิ พังโคน บ้านม่วง วานรนิวาส กุสุมาลย์ สว่างแดนดิน กุดบาก)

2. จังหวัดนครพนม 131 หมู่บ้าน 5 อำเภอ (นาแก เรณูนคร ธาตุพนม ศรีสงคราม เมืองนครพนม)

3. จังหวัดมุกดาหาร 68 หมู่บ้าน 5 อำเภอ (คำชะอีก เมืองมุกดาหาร นิคมคำสร้อย ดอนตาล หนองสูง)

4. จังหวัดกาฬสินธุ์ 63 หมู่บ้าน 5 อำเภอ (เขาวง กุฉินารายณ์ คำม่วง สมเด็จ สหัสขันธ์)

5. จังหวัดหนองคาย 6 หมู่บ้าน 3 อำเภอ(โซ่พิสัย บึงกาฬ พรเจริญ)

6. จังหวัดอำนาจเจริญ 5 หมู่บ้าน 2 อำเภอ (เสนางคนิคม ขานุมาน)

7. จังหวัดอุดรธานี 5 หมู่บ้าน 2 อำเภอ (วังสามหมอ ศรีธาตุ)

8. จังหวัดยโสธร 3 หมู่บ้าน 1 อำเภอ (เลิงนกทา)

9. จังหวัดร้อยเอ็ด 1 หมู่บ้าน (โพนทอง)